วันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ติงประชานิยมเอื้อพวกพ้องอดีตขุนคลังโพสต์แฉแหลกทำเศรษฐกิจชาติแผ่ว



              เมื่อวันที่ 17 ก.ค.56 มีรายงานว่า นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นผ่านเฟซบุ๊ค Thirachai Phuvanatnaranubala ในประเด็น นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ ประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพ ได้ออกมาตั้งคำถาม เหตุใดเศรษฐกิจไทยยังแผ่ว ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมาก? ว่า เป็นเรื่องที่น่าสนใจ แต่กรณีที่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ได้ออกมาตอบโต้ว่า ตัวเลขจีดีพี ปี 2555 ที่ขยายตัวสูง เนื่องจากการ กระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งการพูดเช่นนั้นไม่ผิด แต่ปัญหาคือการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยนโยบายประชานิยมนั้น จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ต่อเนื่องและยั่งยืนเพียงใด

               ทั้งนี้ ปกติการใช้เงินโดยรัฐบาลที่ก้าวหน้านั้น จะเน้นให้เกิดผลในอนาคตมากกว่าปัจจุบัน หรือพูดง่ายๆ หากรัฐบาลใช้วิธีแจกเงินแก่ประชาชน โดยเน้นการอุปโภคบริโภค จะเกิดผลทำให้เศรษฐกิจปัจจุบันโตเร็วขึ้น ตัวเลขจีดีพีสูงขึ้น แต่ผลดีมันจะเกิดเพียงสั้นๆ ซึ่งการกระตุ้นผ่านนโยบายประชานิยม ทำให้เกิดผลหมดเงินจะหมดกำลังซื้อ เศรษฐกิจจะกลับเหงาหงอยพร้อมมี ข้อเสนอแนะว่า หากรัฐบาลเน้นสองอย่างคือ กระตุ้นให้เอกชนมีการลงทุนมากขึ้น หรือหาทางเพิ่มประสิทธิภาพของประเทศ จะเกิดผลดีต่อเนื่องเป็นระยะยาว โดยการใช้จ่ายแบบนี้ รัฐบาลต้องอดทน เพราะผลที่จะเกิดต่อตัวเลขจีดีพีจะล่าช้า อาจจะไม่เป็นที่ถูกใจของคนในพรรค แต่หากทำได้ ผลดีต่อประเทศจะมีมากมายมหาศาล

                ดังนั้น การที่หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เน้นการกระตุ้นการอุปโภคบริโภค จึงต้องยอมรับว่าผลดีจะไม่ต่อเนื่อง เศรษฐกิจปี 2555 อาจจะโตเร็ว แต่ปี 2556 อาจจะเริ่มแผ่วลงนอกจากนี้ ยังได้อ้างถึงข้อคิดของคอลัมนิสต์ชื่อดังในหนังสือพิมพ์ ต่อคำถามที่ว่า เหตุใดเศรษฐกิจไทยยังแผ่ว ทั้งๆ ที่รัฐบาลได้ใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้พูดถึงค่าแรง 300 บาท รถยนต์คันแรก ไปจนถึงการรับจำนำข้าวทุกเม็ดที่ใช้เงินไปกว่า 6 แสนล้านบาท ที่น่าจะมีเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจกว่าล้านล้านบาท แล้วเงินเหล่านี้หายไปไหน ทำไมจึงไม่ทำหน้าที่ตามกลไกเศรษฐกิจ และถ้าเงินเหล่านี้ไปถึงมือประชาชนจริง ด้วยกลไกเศรษฐกิจที่ต้องหมุนเวียนเปลี่ยนมือ เชื่อว่าเงินเหล่านี้ต้องทำงานแน่นอน เศรษฐกิจต้องโตแน่นอน แต่ถ้าเงินเหล่านี้ไปถึงมือประชาชนแบบวัดครึ่ง กรรมการครึ่ง กลไกเศรษฐกิจมันก็จะทำงานแค่ครึ่งเดียว "นี่ไงครับ เหตุผลที่เศรษฐกิจโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นปัจจัยแรก เพราะไปเน้นนโยบายประชานิยม ซึ่งผลไม่ต่อเนื่อง และปัจจัยที่สอง เพราะมีการตกหล่นไปเข้ามือเจ้าของโรงสี หรือนักการเมืองท้องถิ่น ฯลฯ ทำให้เงินทำงานไม่เต็มที่" นายธีระชัย ระบุในตอนท้าย


                ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับคณะผู้บริหารบริษัทจัดอันดับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า "ได้ชี้แจงกับ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ว่าการพัฒนาประเทศช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ผ่านมาของรัฐบาล และแนวทางที่ประเทศไทยจะเดินหน้าปรับสมดุลเศรษฐกิจมีอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะการวางแผนเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลไม่ได้ตั้งใจลงทุน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตแบบระยะสั้น แต่ต้องการทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่องระยะยาวคล้ายๆ กับตอนที่ประเทศไทยลงทุนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด และท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งพอลงทุนเสร็จได้ช่วยยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ประเทศไทยได้เลย"



 
 
หนังสือพิมพ์บ้านเมือง -- พฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น