วันศุกร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สารจากประธานกรรมการการบริหาร


 
"ธนาคารกรุงเทพยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ใกล้ชิดกับลูกค้าในฐานะ "เพื่อนคู่คิด" ในทางสร้างสรรค์ ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมกระจายอยู่ทั้งภายในประเทศและทั่วภูมิภาคเอเชีย


           ในปี 2555 เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจภายหลังจากเหตุการณ์นํ้าท่วมครั้งใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่สามารถกลับมาดำเนินกิจการได้เป็นปกติภายในเวลาเพียง 6 เดือน ในขณะที่การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นตลอดจนการใช้จ่ายของผู้บริโภคก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล


          การส่งออกในปี 2555 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงมาก สืบเนื่องจากวิกฤติหนี้ในยุโรปที่ยังไม่คลี่คลาย ในขณะที่อุปสงค์ในตลาดหลักอื่นๆ อาทิ สหรัฐฯ และจีน ชะลอตัวลง อย่างไรก็ดีปัจจัยลบเหล่านี้ถูกชดเชยโดยปริมาณการค้าในภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวได้ต่อเนื่องโดยเฉพาะการค้าระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นเมื่อสรุปรวมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจจากปัจจัยภายในประเทศข้างต้นแล้ว ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของไทยในปี2555 สามารถเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 6.4


           สำหรับปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่ลดลงเล็กน้อยคือประมาณร้อยละ 5 ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตระยะยาวของไทยที่คาดว่าจะอยู่ในระดับนี้ การขยายตัวในปี 2556 คาดว่าจะมาจากปัจจัยสนับสนุนหลายประการ อาทิ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมรับการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) และการขยายความตกลงการค้าเสรีระหว่างอาเซียนกับประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ซึ่งจะมีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจของไทยในอนาคตต่อไปด้วย

           สำหรับการค้าระหว่างไทยกับ ‘กลุ่มอาเซียนใหม่’ ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ได้เพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกตในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมูลค่าส่งออกของไทยไป 4 ประเทศนี้สูงถึงร้อยละ 75 ของมูลค่าส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ทั้งหมด อีกทั้งยังขยายตัวสูงถึงร้อยละ 12 ในปี 2555 และมีผลสำคัญในการสนับสนุนให้ภาคการส่งออกโดยรวมของประเทศในปี 2555 ยังคงมีอัตราการขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อย ในภาวะที่มีการคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมจะยังคงขยายตัวไม่สูงนักในปี 2556 การหลอมรวมทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชียจึงถือได้ว่าเป็นโจทย์สำคัญสำหรับการปรับตัวของประเทศไทย โดยจะเป็นทั้งโอกาสและความท้าทายสำหรับการพัฒนาประเทศในอนาคตเพื่อช่วยเหลือลูกค้าในการปรับตัวเพื่อรองรับความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ธนาคารกรุงเทพได้ดำเนินการร่วมมือกับลูกค้าในหลายด้าน เช่น การนำนักธุรกิจเดินทางสำรวจลู่ทางการลงทุนในตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ การสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่าแก่ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากนํ้าท่วม การจัดงานสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อนำเสนอความรู้ในการปรับตัวแก่ผู้ประกอบการ เป็นต้น นอกจากนี้ ธนาคารยังสนับสนุนการพัฒนาภาคการเกษตรซึ่งเป็นสาขาเศรษฐกิจที่ประเทศไทยมีความเข้มแข็งอย่างต่อเนื่อง โดยส่งเสริมการนำผลการวิจัยและพัฒนาการเกษตรมาประยุกต์ใช้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลผลิตและสนับสนุนการเสริมสร้างเครือข่ายเกษตรกรให้เข้มแข็งขึ้น เป็นต้น


           ในช่วงเวลาหลายปีขางหน้านักลงทุนจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ ยุโรปและภูมิภาคต่างๆ จะยังคงแสวงหาโอกาสเพื่อย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งโดยพื้นฐานแล้วประเทศไทยนับว่าเป็นศูนย์รวมห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรมและการบริการที่สำคัญของภูมิภาคประเทศหนึ่ง ดังนั้น การลงทุนตลอดจนการท่องเที่ยวจากต่างประเทศจึงยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศต่อไปในอนาคตเพื่อรองรับการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งจะมีผลอย่างสมบูรณ์ภายในสิ้นปี 2558 ธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ของไทยได้เริ่มขยายกิจการไปต่างประเทศอย่างจริงจังแล้วในรอบ 2 - 3 ปีที่ผ่านมา โดยที่ธนาคารกรุงเทพมีเครือข่ายสาขาที่ตั้งมาเป็นเวลานานทั่วภูมิภาค และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในประเทศนั้นมาอย่างยาวนาน ธนาคารจึงมีความพร้อมที่จะสนับสนุนธุรกิจของลูกค้าในเครือข่ายของธนาคารให้สามารถแสวงหาโอกาสใหม่ๆนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธนาคารกรุงเทพยังคงมุ่งมั่นที่จะเป็นธนาคารที่ใกล้ชิดกับลูกค้าในฐานะเพื่อนคู่คิดในทางสร้างสรรค์ ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมกระจายอยู่ทั้งภายในประเทศและทั่วภูมิภาคเอเชีย และด้วยเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะเป็น ‘เพื่อนคูคิ่ด มิตรคูบ้าน’ ของลูกค้าอย่างมั่นคงและยั่งยืนตลอดไป



นาย โฆษิต ปั้นเปี่ยมรัตน์
ประธานกรรมการการบริหารธนาคารกรุงเทพ
 

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น